รุ่นที่ 1 (ค.ศ. 1970 - 1996) ของ เรนจ์_โรเวอร์

เรนจ์ โรเวอร์ รุ่นที่ 1

เรนจ์ โรเวอร์ รุ่นที่ 1 มักเรียกกันว่า เรนจ์ โรเวอร์ คลาสสิก (อังกฤษ: Range Rover Classic) ในช่วงแรกนี้ แลนด์โรเวอร์เป็นบริษัทลูกในสังกัดของ บริติช เลย์แลนด์ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปอยู่ในสังกัด โรเวอร์กรุ๊ป และ บริติช แอโรสเปซในปี 1986 และปี 1988 ตามลำดับ เรนจ์ โรเวอร์ รุ่นแรก มีโครงสร้างโดยใช้อะลูมิเนียม เป็นวัสดุหลักของโครงรถ ในช่วงแรกจะมีเฉพาะตัวถังแบบเอสยูวี 3 ประตู ซึ่งทำให้ผู้โดยสารด้านหลังรู้สึกไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร ใน ค.ศ. 1981 ในการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ จึงได้มีการเพิ่มตัวถังแบบ 5 ประตูเข้าไป ซึ่งเมื่อเพิ่มไปแล้วพบว่าสามารถขายได้ดีขึ้น จนสำนักงานในบางประเทศถึงกับสั่งยกเลิกการนำเข้าเรนจ์โรเวอร์แบบ 2 ประตูเลยทีเดียว

ในช่วงแรกของการผลิต เรนจ์ โรเวอร์ "คลาสสิก" จะใช้เครื่องยนต์เบนซินแบบคาร์บูเรเตอร์วี8 ขนาด 3,528 ซีซี เกียร์ธรรมดา 4 สปีด ไม่มีโอเวอร์ไดรฟ์ (โอเวอร์ไดรฟ์ คือ เกียร์ที่มีอัตราทดต่ำกว่า 1:1 ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้มากกว่าเกียร์ที่ไม่ใช่โอเวอร์ไดรฟ์ รถเก๋งและกระบะส่วนมากในปัจจุบันจะมีเกียร์โอเวอร์ไดรฟ์หมด โดยเป็นเกียร์เดินหน้าเกียร์สูงสุดของรถแต่ละคัน) เกียร์ธรรมดา 4 สปีดแบบมีโอเวอร์ไดรฟ์ เริ่มมีขายในปี 1977, เรนจ์ โรเวอร์ เกียร์อัตโนมัติเริ่มมีขายใน ค.ศ. 1982 เป็นเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด, อัพเกรดเกียร์ธรรมดาเป็นแบบ 5 สปีดใน ค.ศ. 1983, อัพเกรดเกียร์อัตโนมัติเป็นแบบ 4 สปีดใน ค.ศ. 1985 เครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์ถูกแทนที่โดยเครื่องยนต์หัวฉีดใน ในเกือบทุกตลาดในปี 1986 ยกเว้นตลาดในบางประเทศเท่านั้น ยังใช้เครื่องยนต์แบบคาร์บูเรเตอร์ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เครื่องยนต์เบนซินได้มีการเพิ่มขนาดเครื่องยนต์เป็น 3,947 ซีซี และ 4,197 ซีซี ในปี ค.ศ. 1990 และ 1992 ตามลำดับ

เรนจ์ โรเวอร์ เครื่องยนต์ดีเซล เริ่มมีขายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1986 โดยเป็นเครื่องยนต์รุ่น VM Motori TD 4สูบ 2,393 ซีซี และเพิ่มเป็น 2,499 ซีซีในปี 1989 ต่อมาในปี ค.ศ. 1992 เครื่องยนต์ถูกเปลี่ยนเป็นเครื่อง 2,499 ซีซี แบบ 200Tdi Turbocharged และเปลี่ยนเป็น 300Tdi Turbocharged ในปี 1994

เรนจ์ โรเวอร์ จะใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ซึ่งมีทั้งรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ Full-time (ตลอดเวลา) แลขับเคลื่อนสี่ล้อแบบสวิตช์ (สามารถกดสวิตช์เลือกให้ขับเคลื่อน 2 หรือ 4 ล้อก็ได้ ตามสภาพถนน เพราะวิ่งสองล้อจะประหยัดน้ำมันได้มากกว่า แต่วิ่งออฟโรดไม่ได้ ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ เอาไว้ใช้วิ่งในเมือง) ระบบช่วงล่างของเรนจ์โรเวอร์รุ่นแรกนี้เป็นแบบคอยล์สปริง ต่างจากช่วงล่างของรถออฟโรดรุ่นอื่นๆ ที่เป็นแบบลีฟสปริง ระยะฐานล้อ 2500 มิลลิเมตร ซึ่งในประเทศอังกฤษและอเมริกา เรนจ์ โรเวอร์ ได้รับความนิยมพอสมควร มีคู่แข๋งเป็น แลมบอร์กินี แอลเอ็ม002